Tuesday, February 19, 2008

Indications and Comparative Techniques of Shell Repair in Chelonians

ข้อควรระวัง และการเปรียบเทียบวิธีต่างๆ ของการซ่อมกระดองเต่า



นศ.สพ. พัชรินทร์ ปริยวรวงศ์

คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


เต่า อยู่ใน Order Chelonians ทีประกอบด้วย Turtles และ Tortoises โดย กระดองเต่า ทำหน้าที่เป็นป้อมปราการป้องกันอวัยวะภายในหรือ Vital organs ของเต่าทั้งหมด ซึ่งจะมีลักษณะเป็นแผ่นเชื่อมต่อกัน ที่มีความเข็งแรงคงทน ที่เรียกว่า Hard dermal plates ซึ่งเป็นเซลล์ที่มีองค์ประกอบของโปรตีนเป็นหลัก เช่น Histidine, Proline เป็นต้น โดยเซลล์เหล่านี้จะถูกเรียกว่า Alpha หรือ Beta-Keratin cell (Basal cells) โดยเซลล์มีความสามารถในการเพิ่มจำนวน และปล่อยสารประกอบแคลเซียมขึ้นมาด้านบนออกนอกของเซลล์ (Matrix) ทำให้เกิดการสะสมและอัดแน่นเป็นชั้นที่หนาและแข็งแรง (Corneim layer) ส่วนชั้นนอกสุดจะถูกปกคลุมด้วยชั้น Keratin ซึ่งลักษณะของกระดองอาจมีความหลากหลายในแต่ละชนิด หรือ Species ของเต่า


Dermal plates จะมีทั้งหมด 60 ชิ้น ที่พัฒนามาจาก Pectoral bones, Pelvic limb bones, Vertebraes, Costal bones และ sacral bones โดย Carapace จะรวมกับ Verrtebral column แล้วเรียงตัวยาวไปทางล่างของด้าน Pectoral และ Pelvic girdles ซึ่งจะเชื่อมกับ Plastron และเต่ามีเยื่อชั้นผิวหนังด้านใน คือ Pleurocoelum หรือ Coelomic membrane ซึ่งต่อกับชั้นผิวภายในกระดอง อีกทั้งเต่าไม่มีกะบังลม ทำให้อวัยวะภายในคงสภาพโดยกระดอง ส่วนโครงสร้างระบบหลอดเลือดที่กระดองเต่า นั้น ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าเป็นอย่างไร แต่อย่างไรก็ตามสามารถเกิดการสมาน หรือหายของแผลที่กระดอง


สาเหตุ ที่ทำให้เกิดความเสียหายที่กระดองเต่า แบ่งเป็น 3 ข้อ ที่พบได้บ่อย คือ


1. การถูกของหนักทับ เช่น รถ หรือยานพาหนะต่างๆ ขณะที่เต่ากำลังข้ามถนนอยู่, สิ่งของหล่นทับ เป็นต้น


2. การจู่โจมของสัตว์ชนิดอื่นๆ เช่น ผู้ล่าโดยใช้ฟันหรือเขี้ยวกัดกระดอง สุนัขจิ้งจอก หรือผู้ล่าที่จะคาบ แล้วปล่อยเต่าลงมาจากที่สูง เพื่อให้กระทบกับของแข็ง นก นาก เป็นต้น


3. การปีนป่ายของตนเอง ที่อาจพลาดท่าตกลงมากระทบของแข็งๆได้


Physical Examination


1. แก้ไข Emergency ก่อน เช่นเลือดออกไม่หลุดไหล ควรห้ามเลือดก่อน



2. ดู Vital signs ทั่วไปว่าอยู่ในสภาพปกติหรือไม่



3. ตรวจดูความเสียหายของกระดองเต่า ว่า เกิดมาจากสาเหตุใด รุนแรงมากน้อยแค่ไหน เป็นมานานเท่าไหร่ เคยได้รับการรักษามาอย่างไรแล้วบ้าง



4. ประเมินว่าเต่าควรได้รับการซ่อมแซมกระดองเต่าหรือไม่ โดยใช้ข้อบ่งชี้ ดังนี้



* กระดองแตกทะลุผ่าน Pleurocoelum หรือ Coelum หรือไม่ ถ้าไม่ทะลุพิจารณาข้อต่อไป


* ระบบการทำงานทางประสาทของเต่าเป็นอย่างไร ถ้าการตอบสนองสมบูรณ์เป็นปกติ จะพิจารณารับการรักษาได้ เนื่องจากตำแหน่ง Carapace ของเต่าเชื่อมต่อกับกระดูกสันหลังที่มี Spinal cord ภายใน เมื่อมีการบาดเจ็บที่กระดอง อาจทำให้ระบบประสาทสูญเสียไป ซึ่งพบว่าเต่าจะหายจากการบาดเจ็บที่ระบบประสาทกลับมาได้ยาก จึงทำให้เมื่อมีความผิดปกติที่ระบบนี้ ควรพิจารณา Euthanasia จะเป็นวิธีที่ดีที่สุด (Kaplan M, 1995) โดยดูจาก



a. การเดิน พบ Paralysis หรือ Pararesis หรือไม่


b. Pain reflex – การหยิกที่ปลายเท้าของเต่าอย่างแรง ดูการตอบสนองต่อการชักกลับ


c. การว่ายน้ำ เพื่อดูการเคลื่อนไหวของขาทั้ง 4 ข้าง ควรระวังไม่ให้เต่าจมน้ำ หรือน้ำเข้าบาดแผลอย่างมาก (อาจไม่ใช้วิธีนี้ในการประเมินก็ได้)



เมื่อเต่าพร้อมได้รับการซ่อมแซม ควรดูสภาพ Body condition score และ Hydration status ก่อนเพื่อแก้ไขให้เหมาะสม คือการให้สารน้ำผ่าน Intravenus, Intracoelum, Subcutaneus route และให้อาหารผ่าน Esophagostomy feeding tube



5. ถ่ายภาพรังสี ทั้ง 3 ท่า คือ Dorsoventral, Craniocaudal, Lateral views เพื่อประเมินดูการแตกของกระดอง ว่าแตกอย่างไร เพื่อวางแผน และเลือกวิธีที่เหมาะสมที่สุด ทั้งนี้การถ่ายภาพรังสี จะช่วยดูว่าอวัยวะภายในได้รับการกระทบกระเทือนหรือไม่ อีกทั้งยังเป็นการตรวจดูด้วยว่าเต่ามีการติดพยาธิหรือไม่ได้อีกด้วย










C

รูปแบบการแตกของกระดองเต่า




* Linear crack


กระดองเกิดลักษณะร้าวแตกเสียหาย เห็นเป็นเส้น ซึ่งอาจพบตำแหน่งเดียวหรือหลายตำแหน่ง ซึ่งจะใช้เวลาในการสมานของกระดองไม่นานเป็นเดือนหรือปีเท่านั้น




* Excavated holes


กระดองเกิดการแตกเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ จำนวนมาก (ขนาดน้อยกว่า 3 cm.) ซึ่งไม่สามารถนำมาประกบต่อเชื่อมกันได้ จะพบลักษณะเป็นหลุมลงไปใต้กระดอง และใช้เวลาสมานตัวค่อนข้างนานมากกว่า 1-2 ปี



* Bridge fractured


กระดองเกิดการแตกเป็นชิ้นส่วนขนาดใหญ่ แตกเป็นชิ้น ขนาดมากกว่า 3 cm. ซึ่งพบว่าเป็นการแตกที่จัดการได้ยากที่สุด เนื่องจากกระดองเต่าจะมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา เมื่อเต่าเคลื่อนที่ จึงทำให้เชื่อมติดกันต้องใช้เวลานานหลายปี


เทคนิคการซ่อมกระดองเต่า



จุดมุ่งหมาย เพื่อรู้พื้นฐานการซ่อมกระดองเต่าและวิธีการคงสภาพ โดยวิธีการคงสภาพการแตกหักที่เป็นชิ้นส่วนยุ่งยาก ที่ไม่สามารถยึดด้วยวิธีง่ายๆ เช่น วิธีทางการเชื่อมกระดูก (Orthopaedic fixation) คือ Metal pin, plates, wires, screws หรือการใช้ Cement ของอุปกรณ์เกี่ยวกับกระดูก หรือฟัน ซึ่งวิธีเหล่านี้ต้องทำภายใต้การวางยาสลบเท่านั้น


การซ่อมกระดองแบ่งเป็น 2 ส่วนกว้างๆ คืออันดับแรกการดูแลแผล และสองคือการคงสภาพการแตก แต่บางครั้งอาจสามารถดูแลแผลอย่างเดียวในกรณีที่ เศษกระดองแตกบางชิ้นส่วนเสียสภาพไปแล้ว



1. การดูแลแผล (Wound management care) เต่ามีความสามารถในการซ่อมแซมการบาดเจ็บของกระดอง ส่วนมาก แผลขนาดใหญ่ มักดูแลแผลยุ่งยาก ซึ่งอาจทำให้เกิดการบกพร่องได้ จำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อมให้ดี ในกรณีการรักษาแบบแผลเปิด ควรใช้ยาปฏิชีวนะนานอย่างน้อย 2 สัปดาห์



a. การทำความสะอาด (Cleaning) ชะล้าง (Flushing) และการปิดแผล (Dressing)



i. Cleaning เป็นขั้นแรกที่สำคัญ จะต้องชะล้างมากๆ เพื่อทำความสะอาดและลดการปนเปื้อนบริเวณแผลที่กระดอง (David V., 2006) โดยเฉพาะเต่าที่มีเซลล์ตายจำนวนมาก สกปรก และอื่นๆ โดยใช้การขัดถู (Scrub) ด้วยแปรงที่นุ่มนวล เช่น Scrub surgery brush หรือแปรงสีฟัน ผ้าที่เบาบาง หรือฟองน้ำ ก็ได้ ร่วมกับสารน้ำสะอาด เช่นสารละลาย Lactate Ringer solution (Darryl J, et al., 1999.) เพื่อสารอิเล็กโทรไลด์จะช่วยนำเศษเซลล์ออกได้ทางหนึ่ง กรณีที่เป็นเต่าตามธรรมชาติ อาจไม่จำเป็นต้องทำความสะอาดทุกส่วนบนกระดอง แม้ว่าการนำสิ่งสกปรก และโคลนจะช่วยป้องกันแผลจากการปนเปื้อน เนื่องจากอาจเป็นที่อยู่ของสาหร่ายที่มักใช้เป็นที่อำพรางตัวของเต่า (Barten SL., 2006) แต่บริเวณกระดองที่แตก ต้องทำความสะอาดทั้งหมด



ii. Flushing ช่วงแรกของการรักษาควรชะล้าง 2-3 ครั้งต่อวัน ทั้งนี้อาจขึ้นกับสภาพการปนเปื้อนบริเวณแผลด้วย สารที่ใช้ชะล้างที่มีประสิทธิภาพในการต่อต้านจุลชีพดี และไม่ทำลายเนื้อเยื่อ เช่น 0.05% Chlrohexidine (Watt P, et al.,2005), o.1% Povidone Iodine, 1:40 Nolvasan (Vella D, 2006) เป็นต้น แต่มีการศึกษาพบว่า การใช้สารละลาย Povidone ทำให้เกิด Sequestum ซึ่งมีผลทำให้เพิ่มขนาดและความรุนแรงของแผลที่กระดองเต่ามากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ ส่วน Iodine ที่เป็นสารประกอบพวก Hydroscopic จะสนับสนุนการหลั่งสารต่อต้านจุลชีพ หรือ Non-cytotoxic ที่บริเวณแผลเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีผลทำให้ Regeneration ของกระดูกมากขึ้น แต่อาจใช้เวลานานกว่าสารอื่นๆ (Macro, 2006)


iii. Dressing มักจะใช้ในช่วงแรกของการดูแลแผล และควรเปลี่ยนทุกๆ 24 ชั่วโมง ซึ่งมักจะทำร่วมกับการทำความสะอาดและการชะล้าง เพื่อคงสภาพจนกว่าชิ้นส่วนกระดองเต่าจะสมานกันดี แต่ก่อนปิดแผลต้องเช็ด หรือรอให้แห้งสนิทก่อนปิดแผลทุกครั้ง ซึ่งแผ่นปิดแผลนี้มีหลากหลายชนิดและรูปแบบ บางชนิดมีประกอบด้วยสารที่มีความสามารถในการต่อต้านจุลชีพได้ด้วย ซึ่งถ้าใช้อย่างเหมาะสมสามารถใช้ได้นานหลายวัน เช่น Acticoat ซึ่งเป็นแผ่นตาข่ายเคลือบเงิน (Norton TM, et al., 2005) หรืออาจใช้แผ่นปิดแผลร่วมกับ Silvazine cream ที่ให้ผลใกล้เคียงกัน (Johnson J, et al.,2002) ปัจจุบันมีการค้นหาสารตัวใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นการทำลายของเนื้อตาย และหนองในแผลได้ เช่น Intrasite gel หรือ Manuka honey (Mathews HA, et al., 2002) จากการศึกษาพบว่าน้ำผึ้งนี้มีฤทธิ์ในการทำลายจุลชีพ โดยสร้างสภาวะที่เป็นกรด เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลชีพ และแรงดัน Osmolarity สูง ทำให้จุลชีพ เสียสมดุลของเหลวในเซลล์ อาจเซลล์เหี่ยวตายได้ นอกจากนี้ น้ำผึ้งยังลดการบวมน้ำที่แผลและลดเวลาในการเกิด Granulation ให้เร็วขึ้นด้วย (Elke R, et al., 2005) ส่วน Iodosorb ointment เป็นสารประกอบที่เหมาะสมในกรณีที่มีการปนเปื้อนที่กระดองมาก และมีความสามารถในการกันน้ำได้บางส่วน แต่การใช้ ointment นี้มีการศึกษาว่าจะเกิด Cicatrization (แผลเป็น) รวดเร็ว แต่มี Regeneration ของกระดูก (Macro, 2006)



ภาพที่ 7 แสดงวิธีการ wet-dry (ภาพทางซ้าย) และการใช้ dressing (ภาพทางขวา)






การแตกของชิ้นส่วนแบบเป็นชิ้นส่วน (Bridge) ซึ่งใช้แผ่นปิดแผลยึดติดได้เช่นกัน โดยต้องมีลักษณะโปร่งใส สะอาดปราศจากเชื้อ อากาศผ่านได้ และกันน้ำ เช่น Opsite Flexigrid, Opsite Incise, Bioclusive transparent dressing, Tegaderm เป็นต้น โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีคุณสมบัติในการคงสภาพดีกว่าแผ่นปิดแผลทั่วไป เนื่องจากสามารถกันน้ำเข้าบาดแผลได้ ซึ่งสามารถติดเมื่อให้เต่าลงว่ายน้ำได้บางครั้งแต่ไม่นานจนเกินไป


การแตกเพียงเล็กน้อย โดยกระดองสามารถคงสภาพได้เอง อาจจะใช้การทำความสะอาดและชะล้างเท่านั้น



b. การนำเศษเซลล์ตายออก (Debrisling) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาและซ่อมแซมกระดองแตก ซึ่งการติดเชื้อ การมีเซลล์ตาย หรือการปนเปื้อนต่างๆที่เนื้อเยื่อ จะเกิดอย่างช้าๆ และขัดขวางการหายของแผลได้ ซึ่งวิธีนี้ควรทำภายใต้การวางยาสลบ เนื่องจากเต่าจะเจ็บมากและอาจต่อต้านการรักษาได้ โดยจะทำความสะอาดเบาๆ โดยแปรงขัดนุ่มๆ แต่ควรพิจารณาเสมอว่าจะมีเซลล์เนื้อเยื่ออ่อนที่สามารถหลุดได้เช่นกัน บางครั้งเศษเนื้อตายนั้นแข็งมาก อาจใช้ Hypodermic needle, ใบมีดผ่าตัด, Rongeurs หรือที่กรอฟันความแรงสูง ซึ่งขอบเขตการทำในวิธีนี้คือ จะเกิดการเลือดออกเป็นจำนวนมากถึงเพียงพอ


i. ถ้าตำแหน่งแตกใกล้ เนื้อเยื่อใต้กระดอง (Pleurocoelum) มาก มีลักษณะเป็นหลุมทะลุเข้าภายใน ซึ่งวิธีนี้ ช่วยลดการเป็นช่องว่างเนื้อตาย ที่มักจะทำให้แผลหายช้า เพื่อให้แผลสมานกันดีขึ้น


ii. พึงพิจารณาเสมอว่าการ Debrisling ออกมากเท่าใด จะทำให้พื้นผิวแผลและ Pleurocoelum สมานกันดีมากเท่านั้น เพราะกระตุ้นการเกิด Granulation, Epithelizaiton และการสร้างกระดูกใหม่ แต่อาจใช้เวลาในการสร้างกระดูก หรือกระดองเป็นเวลาหลายปีแตกต่างกัน ทั้งนี้การทำงานของกระดองเต่าที่ปกติ ไม่จำเป็นต้องเป็นกระดองใหม่ที่แข็งแล้ว



c. การจัดเรียงกระดองให้อยู่ในแนวเดิม (Realignment) ตำแหน่งที่มีการแตกที่เหลื่อมล้ำกัน ควรจัดเรียงให้กระดองกลับมาอยู่แนวเดิม ทำภายใต้การวางยาสลบ เพราะเต่าจะรู้สึกเจ็บมาก และอาจต่อต้านการทำงาน ซึ่งบางรายทำได้ยาก อาจใช้ร่วมกับตะขอ เช่น Hypodermic hook, ตะขอของทันตแพทย์ (Hulst F, 1997) แต่บางกรณีที่ไม่สามารถจัดเรียงได้ ให้ตัดขอบที่เกยกันออกจะดีกว่า (Barten SL. 2006) โดย ถ้าพบว่าเศษชิ้นแตกของกระดอง น้อยกว่า 3 cm. ควรนำชิ้นนั้นออก เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่ไม่มีหลอดเลือด มีผลให้กระดองไม่สมานตัวกัน แต่ถ้ามีขนาดใหญ่มากกว่า 3 cm. ก็ควรเก็บรักษาชิ้นส่วนกระดองไว้ (Kaplan M, 1995)



d. Vacuum-assisted closure: VAC เป็นวิธีที่ช่วยในการทำความสะอาดแผลให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เดิมเริ่มใช้ในคนก่อนแล้ว พัฒนามาใช้ในสัตว์เล็กและเต่า (Lafortune M, et al.,2003) พบว่าการใช้ VAC ที่เป็นหัวฟองน้ำโดยมีแรงดันดูดออก 10-12 cm Hg ต่อกับบริเวณบาดแผลการแตกของกระดอง เชื่อมผ่านสายยางไปยัง Bandage แล้วใช้เทปพันรอยต่อจนมิดชิด นาน 1-4 สัปดาห์หรือนานกว่านั้น ทำให้นำเศษเซลล์ตายออกได้มากและแผลเกิด Granulation รวดเร็วขึ้น (Coke RL,et al., 2005) และในกระดองเต่าที่มีหนอง (Abscess) และการอักเสบของกระดูก (Osteomyelitis) ส่วนมากจะเป็นเชื้อ Staphylococcus aureus, Klebsiella pneumoniae, Fungus พบว่าหลังใช้ VAC จะสังเกตพบกระบวนการสมานแผลเริ่มที่ 55 วันหลังรักษา Epidermal tissue เริ่มมีการสร้าง Keratinization และจะพบ Pigment ที่เป็นปกติได้เมื่อมากกว่า 67 วัน แสดงให้เห็นว่ามีผลทำให้แผลสมานตัวได้รวดเร็วมากขึ้น แผลสวยงาม และควบคุมการติดเชื้อหรือปนเปื้อนได้มาก ในขณะที่ราคาไม่แพงจนเกินไป (Michael J., et al., 2007)


2. ขั้นตอนการคงสภาพกระดอง (Stabilization)



a. การใช้เทปยึดติด (Adhesive tape)



มักใช้ในกรณีการแตกเพียงเล็กน้อย หรือกระดองเคลื่อนน้อย เช่น Tartan filament 8934 ที่เป็นเส้นใยที่ทนทานต่อแรงตึงสูง ในบางชนิดพัฒนาจนสามารถกันน้ำได้ และยึดติดดีขึ้น สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว จึงเหมาะกับเวลาเร่งด่วน หรือการขนส่งไปรักษากระดองต่อไป หรือในระหว่างการวางยาสลบได้ มักใช้ในกระดองที่แตกตรงตำแหน่ง Carapace หรือจุดเริ่มต้นที่บริเวณ Carapace โดยสามารถประกบรูปร่างได้ตามต้องการ ราคาปานกลาง แต่เป็นวิธีที่ไม่แข็งแรงทนทาน แม้บางชนิดได้มีการพัฒนาให้สามารถกันน้ำได้ก็ตาม



ภาพที่ 7 แสดงวิธีการใช้เทป เหมาะสำหรับการปฐมพยายามเบื้องต้น เพื่อลดการเจ็บปวดของเต่า







b. การเชื่อมโดยอุปกรณ์คล้ายสะพาน (Bridging)



มักใช้ในการแตกเป็นชิ้นส่วน โดยการใช้แผ่นเชื่อมแต่ละชิ้นแตก (David V, 2006) ได้ดี ซึ่งสามารถคงสภาพกระดองระยะเวลาสั้นหรือยาวก็ได้ วัสดุที่นำมาใช้มีหลายอย่างเช่น พลาสติก เหล็ก เป็นต้น ซึ่งพลาสติกมีการออกแบบหลายอย่าง เช่นเป็นคล้ายอานม้ารูปตัว U (Saddle clamps, Command decorating clip) หรือเป็นสายรัดคล้ายเข็มขัด (Mount cable tieข้อดีในเรื่องสามารถโค้งดัดให้เข้ารูปกับตำแหน่งที่แตก) (Forrester H, Satta J. ,2005) เป็นต้น ซึ่งมีน้ำหนักเบา ทนทานปานกลาง และสามารถลดระยะห่างของการแตกได้ดี เทคนิคที่ทำได้ง่าย รวดเร็ว สามารถทำในเต่าที่มีสติได้ด้วย โดยวิธีเหล่านี้จะเหมาะกับตำแหน่งรอยแตกที่ติดเทปได้ยาก หรือบริเวณการแตกของกระดองที่มีการเคลื่อนไหวมากๆ หรือชิ้นส่วนแตกของกระดองหายไปเพียงเล็กน้อย แต่ไม่สามารถทำในกระดองเต่าที่มีชิ้นส่วนหายไปบริเวณใหญ่มากๆ หลังการติดเชื่อมกระดองจะสามารถมองเห็นแผล ทำให้ทราบการสมานของแผล และทำความสะอาดได้ง่าย เพื่อลดการติดเชื้อ เป็นต้น นอกจากนี้วิธีนี้สามารถใช้ร่วมกับวิธีอื่นๆ ในการคงสภาพกระดองได้ เช่น การใช้ลวดผ่าตัด แต่ต้องรักษาแบบแผลเปิดตลอดเวลา จึงควรระวังน้ำหรือความชื้น โดยหลังทำความสะอาดเสร็จ ควรรอจนแห้งสนิท เพื่อความมั่นใจ หรืออาจใช้วิธีอื่นๆเสริมในเรื่องกันน้ำจะดีมาก และควรระวังในการใช้กาวที่เชื่อมติดบนกระดอง (Richard J, et al.,2001) โดยห้ามกาวถูกบริเวณรอยแตก หรือบาดแผลเด็ดขาด และควรเลือกใช้กาวที่เหมาะสม คือมีความสามารถในการยึดติดที่รวดเร็ว และคงการยึดได้ดี



ภาพที่ 8 แสดงวิธีการใช้ Plastic saddle clamp เชื่อมการแตกของกระดองเต่า (ภาพทางซ้าย)


และผลการใช้ภายหลัง 11 สัปดาห์ (ภาพทางขวา)







c. การเชื่อมโดยอุปกรณ์ทางกระดูก (Orthopaedic fixation)



โดยใช้ Orthopaedic Screws, pins, plates, wires เป็นต้น วิธีนี้มีความสามารถในการยึดที่แข็งแรงและทนทานมากที่สุด เหมาะกับแผลการแตกของกระดองทุกรูปแบบ แม้ว่าจะมีการแตกขนาดใหญ่หรือรุนแรงมากก็ตาม และเหมาะกับการแตกที่ต้องการความแข็งแรงในการรองรับชิ้นส่วนมากๆ (Barten SL. 2006.) นอกจากนี้สามารถลดระยะห่างการแตกของกระดองได้เป็นอย่างดีเยี่ยม (Kaplan M, 1995) แต่เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่ทำมาเป็นพิเศษจาก Stainless จึงหนักและมีราคาแพง อีกทั้งเทคนิคปฏิบัติต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเครื่องมือ อาจติดเชื้อได้ง่ายทั้งขณะทำและหลังซ่อมกระดอง จึงต้องใช้ความระวังสูง และมีการทำลายกระดองบางส่วนเพื่อการยึดติดวัสดุเชื่อมต่อ เช่นการเจาะรู เพื่อใส่ screws, pins เป็นต้น และที่สำคัญต้องวางยาสลบ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อเต่าได้ เนื่องจากการเชื่อมต่อโดยวิธีนี้อาจใช้เวลาทำนานพอสมควร บางกรณีสามารถใช้วิธี External coaptation โดยสร้างโครงเป็นตัวค้ำชิ้นส่วนการแตก เช่น Vet-lite, Ronlite SA เป็นต้น ในกรณีการแตกที่ซับซ้อนได้ (Kishimori J, et al.,2001)



ภาพที่ 9 แสดงวิธีการดมยาสลบเต่าแบบใช้ Gas ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในการคุมระดับการสลบ






ภาพที่ 10 แสดงวิธีการใช้ Wires (ภาพทางซ้าย) ซึ่งสามารถลดระยะห่างการแตกของกระดอง จนสนิทชิดกัน


และการใช้ Wires ร่วมกับ Screws ซึ่งใช้ได้กับทุกลักษณะการแตก (ภาพทางขวา)







d. การใช้แผ่นปิดถาวร หรือกึ่งถาวร (Permanent or Semi-permanent dressing)



มักเป็นสารพวก Polymers เช่น Resin, Cement (Bone cement), Acrylic (Dental glass ionomer)(Fowler A, Magelakis N., 2004) เป็นต้น ร่วมกับ Epoxy (Knead It) (Reiss A., 1999) หรือ กาว โดยตามหลักแล้ววิธีนี้สามารถคงสภาพกระดองเต่าที่แตกได้ดี ปฏิบัติได้ทันที และสามารถกันน้ำได้ จึงทำให้ก่อนหน้านี้ นำมาใช้รักษากระดองแตกของเต่าทะเล โดยมักใช้ Fiber glass ร่วมกับ Epoxy (Frye FL., 1973) วิธีนี้ควรระมัดระวังไม่ให้ Epoxy อยู่ติดกับบริเวณบาดแผล ควรอยู่รอบนอกบนกระดอง เนื่องจาก จะมีผลต่อการสมานตัวของแผลได้ และควรทำมากกว่า 2 ชั้น เพื่อประสิทธิภาพในการกันน้ำและอากาศได้ดี (Kaplan M, 1995) ต่อมา มีการศึกษาพบว่าไม่ให้ผลดีการรักษากระดองที่ยาวนาน (Barten SL., 2006, Heard DJ, 1999) เนื่องจากไม่สามารถมองเห็นกระบวนการการหายของแผลได้ อาจทำให้เกิดเนื้อเยื่อที่ตายภายใต้กระดอง แผลจึงไม่สมานกัน หรือการติดเชื้อยังอาจคงค้างอยู่ ซึ่งจะพัฒนาเป็นแผลหลุมที่กระดอง ต่อไปได้ (Ulcerative pyoderma) นอกจากนี้บางครั้งสารที่นำมายึดติดกับกระดอง อาจเป็นพิษ เกิดการอักเสบเพิ่มมากขึ้น และส่งผลเกิดการสมานแผลที่ผิดรูปร่าง หรืออุณหภูมิที่ใช้ในการหลอมเหลว เพื่อยึดติดวัสดุ อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บที่กระดองเพิ่มขึ้นจากเดิม เช่น เกิด Cellulitis, Osteomyelitis ตามมา แล้วส่งเสริมการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอีก ดังนั้นก่อทำการติดแผ่นปิดนี้ ต้องมั่นใจว่ามีการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อที่แผลในกระดองแล้วเป็นอย่างดี เช่น การให้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม ทั้งแบบทั่วร่างกาย และเฉพาะที่ เช่น Calcium hydroxide paste( Reiss A, 1999, Wilson G, Burns P, 2000) เป็นต้น


แผ่นผิดแผลนี้ไม่สามารถทำให้เกิดการผลัดเปลี่ยน Scutes ได้อย่างปกติ จึงอาจทำให้ขอบรอยต่อ เกิดการจับตัวของน้ำมากขึ้น และพัฒนาเป็นกระดองเน่าได้ (Shell rot) วิธีนี้จึงไม่นำมาใช้ในเต่าทะเลอีก (Walsh MT, 1997) นอกจากนี้วัสดุที่ยึดติดนั้นนำออกได้ยาก



ภาพที่ 11 แสดงวิธีขั้นตอนการเชื่อมแบบ Semi-permanent dressing


ภายหลังทำการรักษา โดยใช้ Epoxy และ Fiberglass (ภาพทางซ้าย)


ซึ่งจะพบการเจริญของกระดองมาแทนที่กระดองเก่าที่สามารถเกิดการผลัดกระดองได้ (ภาพทางขวา)







ภาพที่ 12 แสดงวิธีขั้นตอนการเชื่อมแบบ Semi-permanent dressing


โดยหลังทำความสะอาดแผล และตัดชิ้นส่วน Fiberglass พอเหมาะแล้ว กับตำแหน่งกระดองที่หายไปแล้ว


จะใช้ Epoxy ทารอบๆ รอยแตก (A) โดยไม่ให้เข้าบริเวณแผลการแตกเด็ดขาด


เพื่อเชื่อม Fiberglass ให้ติดกับกระดองทุกด้านของกระดอง (B)










A







B





ภาพที่ 13 แสดงผลการเชื่อมแบบ Semi-permanent dressing


เมื่อพบว่า Epoxy จะแห้งสนิทแล้ว หลังจากทาใหม่ 2-3 ชั้น ทับทั่วบริเวณ จนสำเร็จ (C)


ซึ่งวิธีนี้มีประสิทธิภาพสามารถกันน้ำได้ดีมาก จนเต่าสามารถดำรงชีวิตปกติได้ในน้ำ (D)









C







D




การจัดการหลังการซ่อมแซมกระดอง (Dry docking : DD)



ภายหลังการซ่อมแซมกระดองเต่า นอกจากจำเป็นจะต้องทำความสะอาดแผล และคงการให้ยาอย่างสม่ำเสมอ เช่น ยาปฏิชีวนะ อย่างน้อย 1-2 สัปดาห์แล้ว ต้องนำเต่าออกจากน้ำในช่วงแรก (DD) ของขั้นตอนการสมานแผล ซึ่งในแผลการบาดเจ็บที่เล็กมาก จะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ส่วนกรณีการแตกที่รุนแรง อาจใช้เวลานานมากกว่า 1-2 ปี


การแช่น้ำเป็นสิ่งสำคัญในเต่าทุกประเภท เพราะเป็นสถานที่ที่การอาหารและน้ำ รวมถึงการขับถ่าย ส่วนการตาก และได้รับอุณหภูมิที่เหมาะสม ก็มีความสำคัญ เพื่อรักษาความอบอุ่นของร่างกาย คงในระดับ Preferred body temperature ซึ่งอาจต้องเสริมโคมไฟหรือแผ่นความร้อน ในบางชนิดต้องการแสง UV จึงควรมีการจัดการที่เหมาะสมกับสภาพแผลที่กระดองเต่า ดังนี้



* ระดับที่ 1 DD แช่น้ำเป็นครั้งคราว แบบเต็มตัว


Dry-docking with intermittent periods of full water immersion


ในกรณีที่มีการแตกที่กระดองเป็นบางตำแหน่งที่ขนาดเล็ก หรือสามารถปกคลุมบริเวณบาดแผลได้ด้วยแผ่นปิดแผลกันน้ำอย่างมิดชิด เช่น Opsite Flexigrid หรือ Opsite Incise (Smith & Nephew) โดยเต่าสามารถแช่น้ำได้เป็นครั้งคราว รวมประมาณ 30-60 นาทีต่อวัน เพื่อกินอาหาร ดื่มน้ำ และขับถ่าย และหลังขึ้นจากน้ำต้องรีบทำความสะอาดแผล แล้วเช็ดให้แห้งก่อนการปิดแผลใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดการอับชื้นสะสมภายนอกและภายในแผล




* ระดับที่ 2 DD แช่น้ำเป็นครั้งคราวแบบบางส่วน


Dry-docking with intermittent periods of partial water immersion


ในกรณีที่เต่ามีกระดองแตกส่วนของ Carapace มักจะแช่บริเวณน้ำที่ตื้น โดยไม่ให้ถึงบริเวณบาดแผล หรือน้ำกระเด็นโดนได้ง่ายเมื่อเต่าขยับตัว หรือว่ายน้ำ มักจะให้แช่ในช่วงเวลาสั้นๆของวัน เพื่อกิจกรรมในการดำรงชีวิตบางส่วนเท่านั้น แต่ควรเฝ้าดูตลอดเวลาจนกว่าเต่าจะขึ้น



* ระดับที่ 3 DD ออกจากน้ำอย่างต่อเนื่อง


Dry-docking continuously


ในกรณีที่เต่ามีกระดองแตกส่วนของ Plastron หรือ Bridge หรือตำแหน่งที่ไม่สามารถกันน้ำได้อย่างสมบูรณ์ หรือเต่าที่มีบาดแผลที่หัวร่วมด้วย ดังนั้นต้องมีการจัดการที่พิเศษกว่าปกติ โดยจะให้ลงน้ำแค่ 2-4 นาที เพื่อกระตุ้นการขับถ่ายหรือลดความเครียด โดยเต่าจะขับถ่ายลงบนสิ่งรองรับใต้กระดอง ส่วนเรื่องการกินอาหารอาจให้ทาง Esophagostomy feeding tube และให้สารน้ำทาง IV, IC หรือ SQ เป็นต้น ปัจจุบันมีวิธีใหม่ในการให้น้ำคือ Sunken ซึ่งจะนำหัวและคอเต่าเข้าไปดื่มน้ำได้ ซึ่งประสบความสำเร็จมาแล้วในเต่าที่มีลักษณะคอยาว และกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้น ให้ใช้ได้ในเต่าทุกรูปแบบอยู่ (Vella D, 2006)



นอกจากนี้ในกรณีการแตกที่ Plastron ควรมีวัสดุรองรับน้ำหนักรองด้านล่างของกระดองด้วย เช่น เศษกระดาษหนังสือพิมพ์ ผ้า เพื่อกระจายการรับน้ำหนัก ไม่ให้กดลงบริเวณที่การแตกเพียงตำแหน่งเดียว และยังช่วยดูดซับความชื้นบางส่วนก่อนถึงแผ่นปิดแผลด้วย


สิ่งสำคัญควรมีการจดบันทึกการเปลี่ยนแปลงของเต่าและสภาพแผลทุกวัน



สรุป



มีการศึกษาและคิดค้นวิธีการซ่อมกระดองเต่าเรื่อยมา คาดหวังว่าคงมีวิธีที่สามารถทำให้กระดองเต่าสมานแผลได้รวดเร็ว และสามารถป้องกันการติดเชื้อหรือการปนเปื้อนแทรกซ้อน โดยไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์


แต่ปัจจุบันก็ไม่มีวิธีใดที่ดีที่สุดในการซ่อมแซมกระดองเต่า ทั้งนี้การพิจารณาในการเลือกใช้วิธีต่างๆ ขึ้นอยู่กับสิ่งเหล่านี้ คือ


* สภาพเต่าว่าพร้อมที่จะได้รับการรักษาหรือไม่


* สภาพความเสียหายของการแตกที่กระดองเต่า เพื่อพิจารณาว่าเต่าเหมาะสมกับการรับการรักษาหรือไม่


* วิธีที่เหมาะสมกับรูปแบบการแตกของกระดอง รวมถึงค่าใช้จ่าย


* ขั้นตอนการซ่อมกระดองที่สะอาด ปราศจากเชื้อต่างๆ เน้นเรื่องการทำความสะอาดแผลที่สะอาดสุดๆ


* การดูแลหลังซ่อมกระดอง เช่นการจัดการเรื่องอาหารและน้ำ การขับถ่ายของเต่า การให้ยาและการทำความสะอาดแผลอย่างเหมาะสม


Reference:



* Barten SL. 2006. Shell damage. In Mader DR. (ed) 2006. Reptile medicine and surgery. Elsevier Saunders, USA


* Coke RL, Reyes-Fore PA, Finkelstein AD. 2005. Treatment of a carapace abscess in an Aldabra Tortoise (Geochelone gigantea) with negative pressure wound therapy. Proc Assoc Rept Amphib Vet Conf : 86


* Forrester H, Satta J. 2005. Easy shell repair. Exotic DVM 6.6: 13


* Fowler A, Magelakis N. 2004. Shell fracture repair using glass ionomer cement in the long-neck turtle (Chelodina longicollis). Proc Aust Vet Assoc conf UEP SIG. 137-139


* Frye FL. 1973. Clinical evaluation of a rapid polymerizing epoxy resin for repair of shell defects in tortoises. Vet Med/Sm Anim Clin. 68: 51-53


* Heard DJ. 1999. Shell repair in turtles and tortoises: An heretical approach. Proc N Am Vet Conf


* Johnson J. 2002. How to repair chelonian shell disruptions. Proc West Vet Conf


* Kaplan M, 1995. www.anapsid.org/shellrepair.html


* Kishimori J, Lewbart G, Marcellin-Little D, Roe S. Trogdon M, Henson H, Stoskopf M. 2001. Chelonian shell fracture repair techniques. Exotic DVM 3.5: 35-41


* Lafortune M, Wellehan JFX, Heard DJ, Rooney-DelPino E, Fiorello CV, Jacobson E. 2005. Vacuum-assisted closure (turtle VAC) in the management of traumatic shell defects in Chelonians. J Herp Med Surg. 15(4): 4-8


* Macro, 2006. COMPARAÇÃO DE DIFERENTES PROTOCOLOS TERAPÊUTICOS NA CICATRIZAÇÃO DE CARAPAÇA DE TIGRES-D'ÁGUA (Trachemys sp.)


* Mathews KA, Binington AG. 2002. Wound management using honey. Compend Contin Educ Pract Vet. 24(1): 53-60


* Michael J., 2007. Vacuum-assisted closure for treatment of a deep shell abscess and osteomyelitis in a tortoise


* Norton TM. 2005. Chelonian Emergency and Critical Care. Semin in Avian and Exotic Pet Med. 14(2): 106-130


* Reiss A. 1999. Shell repair in tortoises and turtles. In Wildlife in Australia. Healthcare and management. PGFVS Proc 327: 110-111


* Richards J. 2001. Metal bridges- a new technique of turtle shell repair. J Herp Med Surg. 11(4): 31-34


* Vella D, 2006. http://www.theveterinarian.com


* Walsh MT. 1997. Sea turtle critical care principles: Application to other aquatic reptiles. Proc N Am Vet Conf: 761


* Watt P. 2005. Wound Care. Urgency in Emergency. Emergency medicine and critical care. PGFVS proc 358: 321-339


* Wilson G, Burns P. 2000. The use of a low exothermic-curing dental acrylic to repair turtle shell injuries. Aust Vet Pract. 30(2): 63-66

Read more!

Sunday, February 3, 2008

แนวทางการรักษาสัตว์เลี้ยงที่ถูกงูกัด

ประเทศไทยจัดว่าเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีงูอาศัยอยู่ชุกชุมโดยมีทั้งงูมีพิษและงูไม่มีพิษ รายงานอุบัติการณ์ของการถูกงูกัดทั้งในมนุษย์และในสัตว์เลี้ยงพบได้บ่อยครั้ง ซึ่งการถูกงูพิษกัดนับเป็นภาวะฉุกเฉินที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและรวดเร็ว แต่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพิษวิทยาเบื้องต้นและแนวทางการรักษาสัตว์เลี้ยงที่ถูกงูกัดในประเทศไทยยังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าที่ควร การรักษาจึงมักเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ของแต่ละบุคคลซึ่งทำให้มีวิธีการในการรักษาแตกต่างกันไป งูในประเทศไทยมีจำนวนกว่า 190 ชนิด จัดเป็นงูพิษประมาณ 60 ชนิด แต่มีเพียงไม่กี่ชนิดที่มีการกัดสัตว์เลี้ยงและนับว่ามีความสำคัญทางสัตวแพทย์ ฉะนั้นความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับงู และอาการแสดงทางคลินิคที่เกิดขึ้นจะช่วยให้สัตวแพทย์สามารถวินิจฉัยและให้การรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การจำแนกงูพิษและงูไม่มีพิษ
การจำแนกชนิดงูว่ามีพิษหรือไม่มีพิษด้วยลักษณะทางกายภาพนั้น ไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัว ต้องอาศัยการจดจำลักษณะของงูแต่ละชนิด แต่เมื่อกล่าวถึงงูมีพิษจะหมายถึงงูที่มีกลไกของพิษ (venom apparatus) ซึ่งประกอบไปด้วย ต่อมน้ำพิษ (venom gland) ท่อนำน้ำพิษ (venom duct) และเขี้ยวพิษ (venom fangs) นั่นเอง งูสามารถจำแนกตามลักษณะฟันและเขี้ยวได้เป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มงูไม่มีเขี้ยวพิษ (Aglyph) กลุ่มเขี้ยวพิษในหรือเขี้ยวพิษหลัง (Opistoglyph) และกลุ่มเขี้ยวพิษหน้า ซึ่งแบ่งเป็น กลุ่มเขี้ยวพิษสั้น (Proteroglyph) และเขี้ยวพิษยาว (Solenoglyph)

งูพิษในประเทศไทยที่มีความสำคัญทางสัตวแพทย์
งูพิษที่มีความสำคัญทางสัตวแพทย์ในที่นี้จะกล่าวถึงงูที่มีพิษอันตรายต่อร่างกายหรือต่อชีวิตของสัตว์เลี้ยงและพบว่ามีอุบัติการณ์เกิดขึ้น โดยทั้งหมดจัดอยู่ในกลุ่มงูเขี้ยวพิษหน้า ในวงศ์ Elapidae ได้แก่ งูจงอาง (King cobra ; Ophiophagus hannah) งูเห่าไทย (Siamese cobra ; Naja kaouthia) และวงศ์ Viperidae ได้แก่ งูแมวเซา (Siamese Russell’s viper ; Daboia russelii siamensis) งูกะปะ (Malayan pitviper ; Calloselasma rhodostoma) และกลุ่มงูเขียวหางไหม้ (Green pitviper ; Cryptelytrops sp.)

พิษวิทยา
พิษงูเป็นของเหลวใสไม่มีสีหรือมีสีเหลืองอ่อนจนถึงสีเหลืองเข้มอมส้ม โดยมีองค์ประกอบหลักคือน้ำ โปรตีน อนุพันธ์ของโปรตีน และสารประกอบอื่นที่ไม่ใช่โปรตีน โดยส่วนที่เป็นโปรตีนแบ่งเป็นส่วนย่อย 2 ส่วน คือ พิษ (toxin) และน้ำย่อย (enzyme) พิษงูสามารถแบ่งออกได้ตามลักษณะการออกฤทธิ์ต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มหลัก 3 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท (Neurotoxin) พิษงูกลุ่มนี้จะทำการเข้าจับกับ receptor บนกล้ามเนื้อลายหรือบริเวณรอยต่อระหว่างปลายประสาทกับกล้ามเนื้อลาย (neuromuscular junction) ส่งผลให้สารสื่อประสาทไม่สามารถถ่ายทอดสัญญาณไปสู่กล้ามเนื้อลายได้ตามปกติ เกิดอาการเป็นอัมพาตทั่วร่างกาย กล้ามเนื้อลิ้น กล้ามเนื้อตา กล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืน การพูดและการหายใจจะเป็นอัมพาต ทำให้หนังตาตก ลืมตาไม่ได้ การหายใจล้มเหลว (respiratory failure) และตายในที่สุด งูที่มีพิษต่อระบบประสาท ได้แก่ งูจงอาง งูเห่า กลุ่มงูสามเหลี่ยม กลุ่มงูพริกและงูปล้องหวาย
2. กลุ่มออกฤทธิ์ต่อระบบโลหิต (Haemotoxin) พิษในกลุ่มนี้จะมีผลต่อ clotting factors ทำให้เกิดอาการเลือดแข็งตัวช้า หรือไม่แข็งตัว โดยมีกลไกการออกทธิ์ที่แตกต่างกันไป งูที่มีพิษต่อระบบโลหิต ได้แก่ งูแมวเซา งูกะปะ และกลุ่มงูเขียวหางไหม้
- พิษงูแมวเซาจะมีผลกระตุ้น factor V (proaccelerin) และ X (Stuart-Prower factor หรือ prothrombinase) ทำให้ clotting factor ต่างๆ ถูกใช้ไป เมื่อเกิดบาดแผลขึ้นจึงไม่มี clotting factor เพียงพอ ส่งผลให้เลือดไม่แข็งตัวนั่นเอง
- พิษงูกะปะ และกลุ่มงูเขียวหางไหม้ จะมีผลทำลาย factor I (fibrinogen) ทำให้มีระดับ fibrinogen ในเลือดต่ำและเกิดภาวะเลือดออกตามมาได้
3. กลุ่มออกฤทธิ์ต่อระบบกล้ามเนื้อ (Myotoxin) พิษจะมีผลต่อกล้ามเนื้อลาย ทำให้ปวดกล้ามเนื้อและมีการตายของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย (Rhabdomyolysis) ทำให้เกิดภาวะ myoglobinuria, hyperkalemia และ acute renal failure ได้ งูที่มีพิษต่อระบบกล้ามเนื้อ คือ กลุ่มงูทะเล ซึ่งไม่มีอุบัติการณ์ในสัตว์จึงไม่ขอกล่าวถึงรายละเอียดในที่นี่

นอกจากนี้พิษงูแต่ละชนิดยังมีส่วนประกอบที่มีผลต่อระบบอื่นๆ แตกต่างกันไป เช่น cytotoxin, cardiotoxin, nephrotoxin รวมไปถึงเอนไซม์หลายชนิด เช่น phospholipase, hyaluronidase, metalloproteinases ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดความเสียหายในร่างกายได้เช่นเดียวกัน

ลักษณะอาการแสดงทางคลินิค
การศึกษาอาการแสดงทางคลินิคทางสัตวแพทย์ในปัจจุบันยังมีไม่มากนัก โดยส่วนใหญ่จะเป็นการรวบรวมลักษณะอาการแสดงจากประสบการณ์ของสัตวแพทย์หลายๆ บุคคล โดยเทียบเคียงกับอาการแสดงในคน ทั้งนี้อาจมีอาการบางอย่างที่มีความแตกต่างกันได้ โดยอาการแสดงทั่วไปในของการถูกงูแต่ละชนิดกัดมีดังนี้
1. งูเห่า (Naja kaouthia) และงูจงอาง (Ophiophagus hannah)
ผิวหนังบริเวณที่ถูกกัดจะมีอาการบวม สัตว์จะแสดงอาการเจ็บในบริเวณที่ถูกกัด ในกรณีรุนแรงสามารถพบการเกิดเนื้อตาย (necrosis) บริเวณที่ถูกกัดหรือบริเวณรอยเขี้ยวได้ จากนั้นสัตว์จะเริ่มมีอาการอ่อนแรง ทรงตัวไม่ได้ ล้มตัวลงนอน ลืมตาไม่ได้ หายใจอ่อนแรงถึงหายใจลำบาก เยื่อเมือกม่วง (cyanosis) จนกระทั่งหยุดหายใจและเสียชีวิตในที่สุด
2. งูแมวเซา (Daboia russelii siamensis)
บริเวณที่ถูกกัดจะมีเลือดออกมาก เลือดแข็งตัวช้า สามารถพบเลือดออกตามเยื่อเมือกได้ สัตว์จะมีความดันโลหิตต่ำ เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย สามารถพบภาวะ hemoglobinuria จนกระทั่งถึง hematuria ได้ พิษของงูแมวเซายังมีผลต่อไตทั้งทางตรงและทางอ้อมส่งผลให้เกิดภาวะ oliguria หลังจากนั้นสามารถพบภาวะ polyuria ได้ และในรายที่รุนแรงสามารถทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน (acute renal failure) และเสียชีวิตในที่สุด
3. งูกะปะ (Calloselasma rhodostoma) และกลุ่มงูเขียวหางไหม้ (Cryptelytrops sp.)
โดยส่วนใหญ่พิษของงูกะปะและงูเขียวหางไหม้มักไม่รุนแรงถึงทำให้เสียชีวิต อาการส่วนใหญ่มักเป็นอาการเฉพาะที่ โดยบริเวณผิวหนังที่ถูกกัดจะมีอาการบวม สัตว์จะแสดงอาการเจ็บเป็นระยะเวลาหลายวัน ในบางกรณีการถูกงูกะปะกัดที่มีอาการรุนแรงสามารถทำให้เกิดเลือดออกในอวัยวะภายในได้

การรักษาสัตว์เลี้ยงที่ถูกงูพิษกัด
1. Specific treatment
วิธีการรักษาสัตว์เลี้ยงที่ถูกงูพิษกัดที่มีประสิทธิภาพสูงสุด คือ การใช้เซรุ่มแก้พิษงู ซึ่งเซรุ่มผลิตและจำหน่ายที่สถานเสาวภา สภากาชาดไทย เป็นชนิด monovalent purified antivenom ซึ่งต้องใช้ให้ตรงกับชนิดของงูที่กัด (specie specific) โดยเซรุ่มจะอยู่ในรูปแห้ง (lyophilized form) วิธีการใช้ให้ทำการผสมน้ำกลั่นลงในขวดเซรุ่มจากนั้นผสมในสารน้ำขนาด 100 มล. ชนิดใดก็ได้ นำไป drip เข้าเส้นเลือดดำ ส่วนปริมาณการใช้นั้นขึ้นกับการประเมินความรุนแรงของการได้รับพิษ โดยส่วนใหญ่จะเริ่มต้นให้ที่ 1-2 ขวด/ตัว ให้จนหมดแล้วสังเกตอาการอย่างต่อเนื่อง ถ้าอาการดีขึ้นไม่จำเป็นต้องให้เพิ่ม แต่ถ้าอาการต่างๆ ยังคงดำเนินต่อไปอีกสามารถให้เพิ่มได้ทีละ 1 ขวด
ข้อควรระวัง : จากข้อมูลทางการแพทย์และรายงานทางสัตวแพทย์ในต่างประเทศ มีรายงานถึงอาการแพ้ภายหลังการให้ โดยมักแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะเฉียบพลันซึ่งมักเกิดขณะการให้เซรุ่มหรือภายหลังการให้เซรุ่มไม่เกิน 2 ชั่วโมง โดยมีความรุนแรงแตกต่างกันไป ตั้งแต่มีเพียงอาการผื่นคัน จนไปถึงเกิดภาวะ anaphylactic shock และระยะ 5 -24 วันภายหลังการให้เซรุ่ม หรือภาวะ serum sickness โดยอาจพบอาการมีไข้ เป็นผื่น จนไปถึงปวดตามข้อ ต่อมน้ำเหลืองโต และกรวยไตอักเสบได้ ถึงแม้ว่าเซรุ่มแก้พิษงูในปัจจุบันจะมีการพัฒนาวิธีการผลิตทำให้ลดอัตราการเกิดภาวะแพ้เซรุ่ม และในสัตว์มักไม่ค่อยมีอาการแพ้เซรุ่มก็ตาม สัตวแพทย์ก็ควรพึงระวังการใช้เซรุ่มอยู่เสมอ ควรมีการเตรียมพร้อมเพื่อแก้ไขภาวะการแพ้ที่อาจเกิดขึ้น หรือการให้ antihistamine เช่น Chlorphenilamine หรือ Diphenhydramine ก่อนการใช้เซรุ่มก็สามารถช่วยลดการแพ้ได้
2. Symptomatic treatment
การรักษาตามอาการจัดว่ามีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการใช้เซรุ่มแก้พิษงู เนื่องจากการประเมินปริมาณพิษงูในกระแสเลือดจำเป็นต้องส่งเลือดไปทำการตรวจยังห้องปฏิบัติการ จึงมีโอกาสที่ปริมาณเซรุ่มที่ให้ไม่เพียงพอต่อการจับกับพิษในกระแสเลือด ทำให้อาการยังคงดำเนินต่อไปได้ ในกรณีดังกล่าวจำเป็นต้องมีการติดตามและใช้การรักษาตามอาการควบคู่ไปด้วยโดยสามารถปฏิบัติได้ดังนี้
- งูเห่า (Naja kaouthia) และงูจงอาง (Ophiophagus hannah) เนื่องจากผลของพิษงูจะทำให้เกิดการเป็นอัมพาตของกล้ามเนื้อลายรวมไปถึงกล้ามเนื้อที่ควบคุมการหายใจ การรักษาตามอาการที่สำคัญจึงเป็นการประคับประคองให้สัตว์ได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ ซึ่งสามารถทำได้โดยการสอดท่อช่วยหายใจ (endotracheal tube) ร่วมกับการใช้เครื่องช่วยหายใจ และทำการถอดท่อช่วยหายใจออกเมื่อสัตว์เริ่มมีอาการดีขึ้น โดยอาจเริ่มจากการถอดเฉพาะเครื่องช่วยหายใจออกและให้สัตว์หายใจผ่านท่อช่วยหายใจ เมื่อมั่นใจว่าสัตว์สามารถหายใจได้เองแล้วจึงถอดท่อช่วยหายใจออก โดยปกติสัตว์มักจะกลับมาหายใจเองได้ภายใน 24 ชั่วโมง
- งูแมวเซา (Daboia russelii siamensis) เนื่องจากพิษมีผลต่อการแข็งตัวของเลือด ทำลายเม็ดเลือดแดง และมีผลต่อไต การรักษาจึงควรทำการให้สารน้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นช่วยลดภาวะความดันโลหิตต่ำ รวมไปถึงช่วยทำให้มีการไหลเวียนของเลือดไปยังไตมากขึ้น ควรทำการตรวจเลือดทุก 6 ชั่วโมง เพื่อตรวจค่า hematocrit และ clotting time ถ้ามีภาวะของโลหิตจางร่วมกับการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ควรพิจารณาทำการถ่ายเลือด นอกจากนั้นควรติดตามสภาวะการทำงานของไตทั้งโดยการตรวจค่าชีวเคมีในเลือด และสอดท่อปัสสาวะเพื่อประเมินอัตราการกรองของไต และตรวจปัสสาวะเพื่อประเมินความเสียหายของไตควบคู่ไปด้วย
- งูกะปะ (Calloselasma rhodostoma) และกลุ่มงูเขียวหางไหม้ (Cryptelytrops sp.) โดยส่วนใหญ่พิษงูในกลุ่มนี้มักไม่มีอันตรายถึงชีวิต และอาจไม่จำเป็นต้องใช้เซรุ่ม การติดตามอาการของสัตว์ที่ถูกงูพิษในกลุ่มนี้กัดจึงเน้นไปที่การรักษาบาดแผล หากบาดแผลบวมมากสามารถให้สเตียรอยด์เพื่อช่วยลดอาการบวมได้ นอกจากนั้นควรทำการเจาะเลือดทุก 6 ชั่วโมง เพื่อติดตามผลการแข็งตัวของเลือด หากมีความผิดปกติควรทำการให้เซรุ่ม ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักกลับมาเป็นปกติหลังจากได้รับเซรุ่มแล้ว
หมายเหตุ : ปัจจุบันยังคงมีการศึกษาเพิ่มเติมการถึงประสิทธิภาพของการลดอาการบวมโดยใช้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ซึ่งมีทั้งข้อมูลที่ได้ผลและไม่ได้ผล ทำให้การใช้สเตียรอยด์ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่โดยทั่วไป และจากผลการศึกษาพบว่าการให้เซรุ่มแก้พิษงูสามารถช่วยลดอาการบวมได้ แต่ทั้งนี้ยังไม่มีแนวทางการรักษาอาการบวมที่ชัดเจน
3. ยาปฎิชีวนะ (Antibiotics)
เนื่องจาก normal flora ในปากงูจำนวนมากและสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน (secondary bacterial infection) บริเวณที่ถูกกัดได้ จึงจำเป็นต้องมีการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อควบคุมการติดเชื้อเสมอ โดยเชื้อส่วนใหญ่มีทั้ง gram positive และ gram negative การเลือกใช้ยาจึงควรต้องสามารถออกฤทธิ์ได้ต่อแบคทีเรียทั้งสองกลุ่ม หรืออาจพิจารณาการใช้ยา 2 ชนิดร่วมกันได้
4. ยาลดอาการอักเสบและแก้ปวด (Anti-inflammatory and Analgesic dugs)
โดยส่วนมากผิวหนังบริเวณที่ถูกงูกัดและบริเวณโดยรอบมักมีอาการอักเสบ บวม และปวดอย่างรุนแรง จึงควรมีการให้ยาลดอาการอักเสบและแก้ปวด ซึ่งสามารถเลือกใช้ได้ทั้งยากลุ่มสเตียรอยด์ กลุ่ม NSAIDs และกลุ่ม Opioids แต่ในกรณีได้รับพิษต่อระบบประสาทควรหลีกเลี่ยงยาที่มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง เนื่องจากอาจทำให้เกิดความสับสนในการวินิจฉัยได้ และหลีกเลี่ยงยาที่มีฤทธิ์เป็น antiplatelet เช่น aspirin ในกรณีที่ได้รับพิษต่อระบบเลือด เพราะทำให้มีอาการเลือดออกมากขึ้นได้


REFERENCES

บุญเยือน ทุมวิภาต และ วิโรจน์ นุตพันธุ์. 1982 (2525). การรักษาผู้ป่วยถูกงูพิษกัดและงูพิษในประเทศไทย. กทม. โรงพิมพ์พิฆเนศ. 45-57.
ไพบูลย์ จินตกุล. 2000 (2543). ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับงู และอนุกรมวิธานและการจำแนกประเภทของงู ใน งูพิษในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กทม. สำนักพิมพ์มติชน. 27-30, 53-56.
สุคนธ์ วิสุทธิพันธ์ และคณะ. 2003 (2547). แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยถูกงูพิษกัด. สำนักพัฒนาวิชาการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. กทม. ชุมชนสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด. 1-10.
Chaiyabutr, N. 1999. Pathophysiological Effects of Russell’s Viper Venom on Renal Function. J. Natural Tox.. 8(3). 351-358.
Chaiyabutr, N. et al. 1984. Observations on general circulation and renal haemodynamics of experimental dogs given Russell’s viper venom. Thai J. Vet. Med. 14. 257-270.
Chanhome, L. et al. 2001. Catalogue of the herpetological collection of the Queen Saovabha Memorial Institute, Thai Red Cross Society, Bangkok. Part I. Snakes (except Elapidae and Viperidiae). Bullentin of the Maryland Herpetological Society, 37(2). 49-72.
Conceição, L.G. et al. 2007. Anaphylactic reaction after Crotalus envenomation treatment in a dog: case report. J. Venom. Anim. Toxins incl. Trop. 13(2).
Cox, M.J. 1991. The snakes of Thailand and their husbandry. Krieger Publishing Company, Malabar: i-xxxviii + 1-526.
Ferreira Júnior, R.S. and Barraviera B. 2001. Tissue Necrosis after Canine Bothropic Envenoming: A case report. J. Venom. Anim. Toxins 2001 7(2).
Sitprija, V. 2006. Snakebite Nephropathy : Review Article. Nephrology. Asian Pacific Society of Nephrology. 11. 442-448.


An Official ZWVST Blog Discussion Topic
Read more!

Friday, February 1, 2008

ตึก ๔ มะเสง สถานเสาวภา

โดย น.สพ. ทักษะ เวสารัชชพงศ์


ตึก ๔ มะเสง สวนงู สถานเสาวภา สภากาชาดไทย สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2472 โดยแบ่งเงินจากทุน ๔ มะเสง ซึ่งเป็นทุนที่พระบรมวงศานุวงศ์ 4 พระองค์ ประกอบด้วย พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าศศิพงศ์ประไพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัรตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าพิสมัยพิมลสัตย์ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ร่วมด้วยพระประยูรญาติและมิตร ได้ประทานเงินจำนวนหนึ่งให้แก่สภากาชาดไทย เพื่อใช้ในการบำบัดรักษาผู้ที่ถูกสัตว์มีพิษกัด ตึก ๔ มะเสง มีวัตถุประสงค์สำหรับใช้ในการเลี้ยงสัตว์มีพิษชนิดต่างๆ และสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์สัตว์มีพิษและไม่มีพิษให้ประชาชนได้ศึกษา ในเวลาต่อมา ตึก ๔ มะเสง ได้ชำรุดทรุดโทรมลง จึงได้ทำการสร้างใหม่โดยได้รับงบประมาณจากรัฐบาลและสภากาชาดไทย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯเปิดเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2551 


ตึก ๔ มะเสงใหม่นี้ ได้รับการสร้างเป็นตึก 5 ชั้น ใช้เป็นที่จัดแสดงงูมีชีวิตชนิดต่างๆ พิพิธภัณฑ์และนิทรรศการความรู้เกี่ยวกับงู เป็นสถานที่เพาะเลี้ยงงูและเป็นที่ทำการของสวนงู ภายในชั้น 1 เป็นสถานที่จัดแสดงงูมีชีวิตภายในตู้งูจำนวน 35 ชนิด และจัดแสดงสถานที่จำลองลักษณะการอยู่อาศัยของงูในธรรมชาติ ชั้น 2 แสดงนิทรรศการความรู้เกี่ยวกับงูในแง่มุมต่างๆ การออกฤทธิ์ของพิษงู และการปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหับผู้ป่วยที่โดนงูกัด โดยมีรูปแบบการนำเสนอที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นบอร์ดนิทรรศการ ตัวอย่างจัดแสดงจากงูจริง วีดีทัศน์ทั้งในรูปแบบสารคดีและ graphic animation ที่มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษให้สามารถเลือกชมได้ นอกจากนั้นยังมีการแสดงวิธีการฟักไข่งู และหุ่นยางพาราจำลองขนาดเท่าคนจริงสำหรับสาธิตการปฐมพยาบาลอีกด้วย ชั้น 3 เป็นที่ทำการของสวนงู และพิพิธภัณฑ์งูสำหรับการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ชั้น 4 และ ชั้น 5 เป็นห้องเตรียมตัวอย่างงู ห้องตรวจรักษาโรคงู และ โครงการเพาะเลี้ยงงู นอกจากนั้นสวนงูยังจัดให้มีกิจกรรมการแสดงให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศได้ชมโดย 


วันจันทร์ – ศุกร์ (เว้นวันหยุดราชการ) 

9.30 – 15.30 น.  เชิญชมตู้จัดแสดงงู และนิทรรศการความรู้เกี่ยวกับงู ภายในตึก ๔ มะเสง 

11.00 น.              สาธิตการรีดพิษงู ภายในเวทีจัดแสดงบริเวณชั้น 1 อาคาร ๔ มะเสง 

14.30 น.              สาธิตการจับงูชนิดต่างๆ และถ่ายรูปกับงูที่บริเวณอัฒจันทร์ด้านนอกอาคาร 


วันเสาร์อาทิตย์ และวันหยุดราชการ เปิดทำการ 9.30 – 13.00 น.

9.30 – 13.00 น.  เชิญชมตู้จัดแสดงงู และนิทรรศการความรู้เกี่ยวกับงู ภายในตึก ๔ มะเสง

11.00 น.            สาธิตการจับงูชนิดต่างๆ และถ่ายรูปกับงูที่บริเวณอัฒจันทร์ด้านนอกอาคาร


ค่าผ่านประตูคนไทย ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 10 บาท ชาวต่างประเทศผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 50 บาท ขอเชิญผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชมสวนงูรูปแบบใหม่ได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ 

Read more!

Saturday, January 5, 2008

จับจระเข้อย่างปลอดภัย (ไม่ให้ถูกกัด)


โดย น.สพ.กมลชาติ นันทพรพิพัฒน์



“จระเข้ในสวนสัตว์ก่อเหตุสยองงับแขนสัตวแพทย์จนขาดคาปาก หนังสือพิมพ์ลิเบอร์ตี้ ไทม์ส ของไต้หวัน รายงานเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 เม.ย. 2550 ว่า บรรดาศัลยแพทย์ ต้องใช้เวลากว่า 7 ชม. ผ่าตัดต่อแขนข้างซ้ายท่อนล่างให้นายชาง โป หยู วัย 38 ปี สัตวแพทย์ผู้ดูแลสวนสัตว์เส้าชาน ในเมืองเกาสง ทางภาคใต้ของไต้หวัน จนเป็นผลสำเร็จ หลังนายชางถูกจระเข้พันธุ์แม่น้ำไนล์ ขนาดยักษ์ อายุ 17 ปี ที่หนักถึง 300 กิโลกรัม ของสวนสัตว์ดังกล่าว กัดแขนขาดคาปากอย่างน่าสยดสยอง เหตุร้ายเกิดขึ้นหลังจากนายชางยิงลูกดอกบรรจุยาสลบใส่จระเข้ตัวดังกล่าว เพื่อทำให้หมดฤทธิ์ แล้วรักษาอาการเจ็บป่วยของจระเข้ จากนั้นนายชางได้ยื่นแขนเข้าไปในกรงจระเข้ เพื่อถอนลูกดอกและให้ยารักษาจระเข้ โดยไม่ทันสังเกตเห็นว่ายาสลบยังไม่ออกฤทธิ์เต็มที่ และจู่ๆโดยไม่มีใครคาดฝัน จระเข้ได้อ้าปากงับแขนของนายชางจนขาดคาปาก”

ใจหายเหมือนกันนะครับ สำหรับข่าวร้ายในวงการสัตวแพทย์สัตว์ป่า ถึงแม้จะไม่ใช่สัตวแพทย์ในบ้านเราแต่ก็เป็นเพื่อนร่วมวิชาชีพเดียวกัน ขอให้หายไวไวเพื่อกลับมาทำงานต่อนะครับ ฝากเป็นอุทาหรณ์เตือนใจให้กับกลุ่มสัตวแพทย์สัตว์ป่าเพื่อนพ้องน้องพี่ทั้งหลายนะครับ ทำงานทุกครั้งอย่าประมาท มีสติ คิดให้รอบคอบก่อนปฏิบัติ โดยเฉพาะสัตวแพทย์ที่ทำงานกับสัตว์ดุร้ายอย่างเสือโคร่ง จระเข้ งูพิษ ช้างตกมัน ผมขอใช้ประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับสัตว์ดุร้ายอย่างจระเข้มาเล่าให้ฟัง เผื่อเป็นประโยชน์ครับ

โดยธรรมชาติของจระเข้จะมีพฤติกรรมที่ค่อนข้างจะเหมือนกันทุกวัน นั่นคือนอนบนบก หรือไม่ก็ลอยน้ำ ตอนลอยน้ำจะสังเกตเห็นการโบกของท่อนหางได้และการทำงานก็มักไม่ค่อยจะทำเมื่อจระเข้เอาตัวเองลงน้ำ จะทำงานก็ตอนจระเข้อยู่บนบก ซึ่งก็คาดเดาพฤติกรรมค่อนข้างยาก ไม่เหมือนกับสัตว์ชนิดอื่น ๆ ที่มีการเคลื่อนไหวแสดงออกถึงพฤติกรรมต่าง ๆ หากเป็นพฤติกรรมที่ไม่น่าไว้ใจ พฤติกรรมที่บ่งบอกถึงพร้อมที่จะทำร้ายเราได้ทุกวินาที เมื่อนั้นเราก็หยุดไม่ดำเนินการต่อ แต่จระเข้ไม่เป็นเช่นนั้นแล้วเราจะทราบได้อย่างไร

จระเข้ป่วยจะรู้ได้อย่างไร
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าจระเข้ป่วย จระเข้เป็นสัตว์เลือดเย็นดังนั้นอัตราเมตาโบลิซึ่มค่อนข้างต่ำ การให้อาหารจระเข้ที่โตเต็มวัยมักจะให้สัปดาห์ละครั้งเท่านั้น และมักจะให้ในช่วงที่แดดออก หากเป็นช่วงหน้าหนาวบางครั้งจระเข้ก็มักไม่กินอาหารที่ให้เลย ดังนั้นการดูว่าจระเข้ไม่กินอาหารถือว่าเป็นจระเข้ป่วยก็มักจะไม่ถูกต้องเสมอไป ให้ดูรายละเอียดโดยรวมคือ

1. จระเข้ที่ปกติมักจะมีความดุร้ายหากไปแหย่ ( โดยใช้ไม้ยาว ๆ แหย่นะครับ อย่าใช้นิ้ว ) จระเข้ก็มักจะหันมางับหรือไม่ก็วิ่งหนีไปอย่างรวดเร็ว หากจระเข้นิ่งเฉย ไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้ก็เข้าข่ายป่วย

2. จระเข้ที่ผอม ผอมกว่าตัวอื่น ๆ หรือว่าผอมจนเหลือแต่โครงร่าง สามารถนับซี่โครงได้ก็แสดงว่าป่วยแน่ ๆ ต้องมีอะไรที่ผิดปกติ ส่วนมากหากเจอผอมแบบนี้ก็มักเจอสิ่งแปลกปลอมอย่างเช่น ถุงพลาสติก ขวดน้ำ ก้อนหินอัดแน่นอยู่ในกระเพาะก็ต้องทำการรักษาต่อไป

3. จระเข้ที่มีตะไคร่ขึ้นตามลำตัว หรือขึ้นตามฟัน นั่นก็แปลว่าจระเข้จะอยู่แต่ในน้ำ โดยสัญชาติญาณหากจระเข้รู้ว่าตัวเองป่วยมักจะหลบซ่อนตัวในน้ำ ไม่ยอมขึ้นมาจากน้ำจนลอยตายในน้ำก็มี และจระเข้ที่มีตะไคร่ขึ้นตามไรฟันนั่นก็แปลว่าจระเข้ไม่ได้กินอะไรเลย ฟันไม่ได้ใช้ในการกัดเหยื่อ ทำให้ตะไคร่สามารถขึ้นได้ แต่ก็ไม่สามารถใช้ได้กับจระเข้ทุกสายพันธุ์นะครับ จะมีจระเข้บางสายพันธุ์ที่อาศัยอยู่แต่ในตลอดจนลำตัวมีแต่ตะไคร่เต็มไปหมด

4. ดวงตาจระเข้ที่ปกติจะใส เห็นเป็นประกาย หากพบดวงตาที่ขุ่นมีน้ำตา หรือขี้ตานั่นก็เข้าข่ายว่าเป็นจระเข้ป่วย

วิธีการจับจระเข้
หากพบว่ามีจระเข้ป่วยและต้องดำเนินการจับ นั่นต้องอาศัยผู้ที่เชี่ยวชาญเท่านั้นนะครับ ไม่ใช่ว่าใคร ๆ ก็สามารถจับได้ จระเข้ตัวเล็ก ๆ ยาวประมาณ 1 – 2 เมตรก็สบายหน่อย แต่หากเป็นจระเข้ที่อายุมาก ๆ และเป็นตัวผู้ด้วยแล้วละก้อมักมีความยาวมากกว่า 3 เมตร หากเป็นจระเข้แม่น้ำไนล์อย่างที่เป็นข่าวนั่นก็ไม่ต่ำกว่า 4 เมตรละครับ น้ำหนักก็มากตามความยาวที่เพิ่มขึ้น มีวิธีการจับจระเข้มาเล่าให้ฟังดังนี้

1. ทำเชือกให้เป็นห่วงเพื่อใช้โยนให้คล้องเข้ากับต้นคอของจระเข้ เมื่อคล้องได้จังหวะนี้ตัวจระเข้มักจะหมุนตัวเพื่อให้ตัวเองหลุดออกจากห่วง หากห่วงแน่นก็จะไม่หลุด ปล่อยให้จระเข้หมุนตัว ไม่ต้องตกใจเป็นการดีด้วยเพื่อให้จระเข้ใช้กำลังมาก ๆ จระเข้ก็จะหมดแรง ไม่มีแรงที่จะขัดขืน หลังจากนั้นให้ทำห่วงอีกห่วงเพื่อใช้คล้องบริเวณปากเพื่อรัดปากไม่ให้จระเข้สามารถงับได้ ที่เรียกว่า “เข้าคางเรือ” ดังภาพที่ 1,2

2. ทีมงานจับคนอื่น ๆ เข้าไปจับเพื่อทำให้จระเข้อยู่นิ่ง ๆ หากมีกระสอบสามารถนำมาคลุมบริเวณหัวเพื่อการปิดตาและปิดปาก ป้องกันไม่ให้จระเข้สามารถใช้ปากเพื่อมากัดคนจับได้ หลังจากจับบังคับให้จระเข้สามารถอยู่นิ่ง ๆ ได้แล้วให้ทำการมัดปากด้วยยาง หรือเทปกาว ดังภาพที่ 3

3. ในระหว่างนี้สัตวแพทย์สามารถเข้าไปทำการตรวจร่างกาย เก็บตัวอย่างเลือด อุจจาระหรือการทำแผล ฉีดยาได้

4. หากจำเป็นต้องมีการเคลื่อนย้ายตัวจระเข้ เพื่อความปลอดภัยจำเป็นต้องมีการใส่เสื้อให้กับจระเข้ คือการห่อผ้า หรือใช้ผ้ากระสอบคลุมแล้วเย็บผ้ากระสอบให้พอดีกับตัวจระเข้ ดังภาพที่ 4

รูปที่ 1 
รูปที่ 2







รูปที่ 3 รูปที่ 4


การจับจระเข้โดยการใช้ยาสลบ
การใช้วิธีการนี้มักจะเป็นจระเข้ที่มีความดุร้ายมาก ขนาดตัวค่อนข้างใหญ่ และไม่มีผู้ที่เชี่ยวชาญทางด้านการจับจระเข้ในขณะนั้น ซึ่งการใช้ยาสลบเป็นการบังคับให้ได้ผลสมบูรณ์ ลดความเครียด ความเจ็บปวด ช่วยให้การปฏิบัติงานได้ดี กล้ามเนื้อคลายตัว และมีความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน ดังนั้นวิธีการยิงลูกดอกยาสลบจึงมีความจำเป็น ซึ่งหากมีการใช้วิธียิงลูกดอกยาสลบควรมีการคำนึงถึงปัจจัยดังนี้

1. จัดเตรียมชุดอุปกรณ์ยิงยาสลบให้พร้อม เช่น ยาสลบ ยาแก้ยาสลบ ( antidose ) ทีมงานที่ช่วยในการควบคุมหลังจากยิงยาสลบเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งเตรียมสถานที่ให้พร้อมอย่างเช่น สิ่งกีดขวางในบ่อที่อาจเป็นอุปสรรคในการทำงานให้นำออกไปก่อน หากมีบ่อน้ำหรือแอ่งน้ำควรจะปล่อยน้ำออกจากบ่อให้หมดเพื่อป้องกันไม่ให้จระเข้หนีลงน้ำหลังจากยิงยาสลบ หาทำเลในการยิงยาสลบให้เหมาะสมกับตำแหน่งที่ต้องการ มีการอดอาหารจระเข้หากต้องมีการจับเพื่อป้องกันการสำรอกหรือการจับที่รุนแรงอาจส่งผลให้กระเพาะอาหารแตกได้

2. การเลือกใช้ยาสลบ เลือกตามความเหมาะสมในการใช้ร่วมกับลูกดอกยิงยาสลบ และเลือกตามความชำนาญในการใช้ยาชนิดนั้น ๆ ของสัตวแพทย์ และตามยาที่มีใช้อยู่ เช่น

Ketamine 12 – 15 mg/kg
Tiletamine + Zolazepam 2 – 10 mg/kg
Tricaine methanesulfonate 80 – 90 mg/kg
Etorphine 0.5 – 1.5 mg/kg
Medetomidine 0.15 - 0.3 mg/kg
Atipamezole 0.8 – 1.51 mg/kg
Xylazine 0.10 - 1.25 mg/kg

3. ประมาณน้ำหนักตัวของจระเข้ที่จะทำการยิงยาสลบ ดังนี้

จระเข้ความยาว 1 เมตร จะมีขนาดน้ำหนักตัวประมาณ 3 -8 กิโลกรัม
จระเข้ความยาว 2 เมตร จะมีขนาดน้ำหนักตัวประมาณ 35 – 40 กิโลกรัม
จระเข้ความยาว 3 เมตร จะมีขนาดน้ำหนักตัวประมาณ 120 – 150 กิโลกรัม
จระเข้ความยาว 4 เมตร จะมีขนาดน้ำหนักตัวประมาณ 240 – 260 กิโลกรัม


4. เลือกตำแหน่งของกล้ามเนื้อที่จะทำการยิงยาสลบ โดยหลีกเลี่ยงการยิงยาสลบเข้ากล้ามเนื้อขาหลังเพราะยาจะผ่านการทำงานของไต ( RENAL PORTAL SYSTEM ) ทำให้ปริมาณยาสลบที่คำนวณได้บางส่วนจะถูกขับออกก่อนที่ยาจะออกฤทธิ์ อาจเป็นผลให้จระเข้ไม่สลบ หากจำเป็นที่ต้องยิงยาสลบเข้าที่ส่วนล่างของลำตัวอย่างเช่น บริเวณกล้ามเนื้อโคนหาง ( บ้องตัน ) ควรจะเพิ่มปริมาณความเข้มข้นของยาตามความเหมาะสม

5. ข้อควรระวังหลังจากการใช้ลูกดอกยิงยาสลบ
5.1 อย่าลืมว่าจระเข้เป็นสัตว์เลือดเย็น เพราะฉะนั้นการดูดซึมยาสลบจะค่อนข้างช้ากว่าสัตว์เลือดอุ่นทั่วไป จากที่สัตว์เลือดอุ่นหลังจากได้รับยาจะออกฤทธิ์ ( induction times ) ประมาณ 5 – 10 นาที แต่จระเข้ต้องรอนานถึง 20 นาทีขึ้นไป เพราะฉะนั้นอย่าใจร้อน อาจต้องการทราบว่าจระเข้เริ่มที่จะสลบหรือยังให้ใช้ไม้ยาว ๆ แหย่ตรงตำแหน่งที่ค่อนข้างไวต่อความรู้สึกเช่น ตรงบริเวณจมูก หรือโคนขาทั้งสี่ ระยะที่ยาสลบหมดฤทธิ์ ( recovery times ) ประมาณ 45 - 60 นาที การสลบแล้วให้สังเกตว่าจะไม่สามารถอ้าปากได้ ไม่กัด ไม่มีการกระพริบตา ไม่มีความรู้สึกเจ็บหรือดึงกลับเวลาดึงเท้าหน้า
5.2 อุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมก็มีผลต่อการออกฤทธิ์ของยาสลบเช่นกัน หากเป็นช่วงกลางวันที่มีแดดออก อุณหภูมิสิ่งแวดล้อมประมาณ 25 – 30 องศาเซลเซียสผลของยาสลบค่อนข้างดี แต่หากเป็นอุณหภูมิห้องควบคุมอากาศ ( ห้องแอร์ ) ที่ 20 – 24 องศาเซลเซียสการออกฤทธิ์ของยาจะค่อนข้างช้าหากจำเป็นอาจจะต้องมี warm pad รองใต้ตัวจระเข้เพื่อการควบคุมอุณหภูมิจระเข้อีกทีหนึ่ง
5.3 จระเข้มีเกร็ดตามลำตัวค่อนข้างหนา และแข็ง ดังนั้นการใช้วิธีการเป่าลูกดอก
โดยไม่มีปืนที่เก็บลมนั้นค่อนข้างที่จะต้องใช้แรงที่มาก และระวังการกระดอนกลับของลูกดอก เพราะฉะนั้นในระยะรัศมีของวิถีต้องไม่มีคนอยู่ ควรกันคนออกนอกอาณาเขตให้ได้มากที่สุด และควรมีลูกดอกสำรองในกรณีที่การยิงลูกดอกในครั้งแรกไม่ได้ผล ลูกดอกชุดที่สองเตรียมพร้อมที่จะใช้งานได้ทันที
5.4 ยาต้านฤทธิ์ยาสลบควรเตรียมก่อนที่จะมีการเตรียมยาสลบเพื่อความปลอดภัยทั้งสัตวแพทย์และตัวจระเข้ เช่น โยฮิมบีน (yohimbine) ใช้ต้านฤทธิ์ของ xylazine , โดซาแพม(doxapam) ใช้ต้านฤทธิ์ของ Tiletamine + Zolazepam
Read more!